เมื่อคนเรามีสไตล์การทำงานที่ต่างกัน รูปแบบของงานย่อมต่างกันไปด้วย บางคนชอบสร้างงานขนาดเล็ก Minimal บางคนชอบสร้างงานขนาดใหญ่ ด้วยสไตล์การทำงานที่ต่างกันนี้ ในการเป็น ” นักออกแบบลายและงานปักจักร” นั้นจำเป็นที่จะต้องมีจักรปักที่ตอบโจทย์การทำงานของแต่ละคนค่ะ
หลักการทำงานทั่วไปของจักรทุกรุ่นทุกยี่ห้อ
จักรปักทุกรุ่นนั้น จะมีหลักการทำงานเดียวกันคือ มีหลักการทำงานด้ายบนกับตัวจักรด้านบน และด้ายล่างกับตัวจักรด้านล่าง เมื่อด้ายบนที่เกี่ยวกับเข็มจักรแทงลงไปผ่านวัสดุที่ต้องการปัก จะไปเกี่ยวกับด้ายล่างอยู่ในตัวจักรด้านล่าง แล้วถูกดึงขึ้นสู่ด้านบน และเคลื่อนที่ไปตามฝีเข็มที่เราออกแบบทำให้เกิดลวดลายบนวัสดุ ที่เราเรียกว่าลายปักนั่นเอง
อะไรทำให้เกิดความแตกต่างของจักรในแต่ละรุ่น ทั้งขนาดและความสามารถในการปัก
ความต่างและความสามารถในการปักของแต่ละจักรนั้น จะอยู่ที่ขนาดสะดึง , สะดึงพิเศษ , ลักษณะของอาร์ม (ตัวจับร่อนสะดึง) และความเร็วในการปัก (ยังไม่รวมถึงฟังก์ชั่นพิเศษอื่นๆ เช่นกล้อง , LED Pointer )
สะดึงคืออะไร และสะดึงเป็นตัวกำหนดขนาดลายปักยังไง
สะดึง (อังกฤษ: Embroidery hoop; Embroidery frame) คือ กรอบไม้ กรอบพลาสติก หรือกรอบอะลูมิเนี่ยม สำหรับขึงผ้า หรือวัสดุที่ต้องการปัก เพื่อยึดทำให้วัสดุเกิดความตึงเรียบ เพื่อให้ปักได้ง่าย
ขนาดของสะดึง จะเป็นตัวกำหนดขนาดของลายที่จะสามารถปักได้ เช่น จักรที่มีสะดึง 10 x 10 cm. จะสามารถปักลายได้ไม่เกิน 10 cm ( ซึ่งสะดึงขนาด 10 x 10 cm จะเป็นสะดึงมาตรฐานที่มากับจักรทุกรุ่นอยู่แล้วค่ะ แต่ในจักรขนาดเล็ก จะมีสะดึงไซส์นี้เพียงไซส์เดียว จึงทำให้จักรปักขนาดเล็กปักงานได้ไม่เกิน 10 cm จักรเล็กจึงเหมาะกับคนที่ชอบออกแบบ ทำงานที่มีลายขนาดเล็กๆ ซึ่งในจักรปักที่มีขนาดใหญ่ ก็จะมีขนาดสะดึงขนาดใหญ่มากขึ้น ทำให้ปักงานที่มีลายที่ใหญ่กว่า 10 cm ได้ )
สะดึงพิเศษ คือ สะดึงที่นอกเหนือจากสะดึงมาตรฐานที่ใช้สำหรับปักวัสดุแบบแบน เป็นสะดึงที่ใช้สำหรับปักบนชิ้นงานที่สำเร็จรูปมีรูปทรง เช่น หมวก รองเท้า ขากางเกง (ซึ่งสะดึงพิเศษจะมีในเฉพาะที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น นั่นหมายความว่าจักรปักขนาดเล็กจะมีสะดึงที่ใช้ปักงานที่มีลักษณะแบนได้เท่านั้น )
ลักษณะของอาร์ม (ตัวจับสะดึง) เป็นตัวกำหนดว่าปักงานประเภทไหนได้บ้าง
อาร์มจับสะดึง คือ เป็นส่วนที่ยึดสะดึงให้ติดกับตัวจักร และเป็นตัวทำให้สะดึงเคลื่อนที่ในแนวราบ ไปตามทิศทางฝีเข็ม เพื่อให้เกิดลายปักในพื้นที่ต่างๆของวัสดุที่ต้องการปัก
อาร์มจับสะดึงในจักรขนาดเล็ก จะเป็นอาร์มที่ติดกับฐานปัก ทำให้เวลาอาร์มเคลื่อนที่ ด้านล่างของสะดึงจะติดกับตัวฐานสะดึง จักรปักเล็กจึงเหมาะกับงานที่แบน เป็นแผ่น ไม่มีทรง เช่น ผ้าเป็นผืน หนังเป็นแผ่น ชิ้นงานที่ยังไม่ประกอบสำเร็จ
อาร์มจับสะดึงในจักรปักขนาดใหญ่ จะป็นแบบฟรีอาร์ม คือลอยตัว ไม่ติดกับฐานปัก ทำให้มีพื้นที่ด้านล่างตัวจักร ให้ชิ้นงานที่สำเร็จสามารถอยู่ได้ เช่น รองเท้า หมวก กระเป๋าสำเร็จ และยังสามารถปักงานในลักษณะแบน และมีขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
ความเร็วในการปัก มีผลต่อการผลิตงาน
ความเร็วในการปักนั้น มีผลต่อระยะเวลาในการปัก ถึงแม้ว่าจะเป็นลายปักเดียวกัน แต่ใช้ความเร็วในการปักต่างกัน ก็จะทำให้จักรที่มีความเร็วมากกว่าเสร็จเร็วกว่า ในจักรเล็กนั้นจะมีความเร็วในการปักที่จำกัดอยุ่ที่ 400 ฝีเข็มต่อนาที(ไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้) จักรที่มีขนาดปานกลางจะมีความเร็วที่ 400-850 ฝีเข็มต่อนาที และ ในจักรใหญ่จะมีความเร็วฝีเข็มได้ถึง 400-1,000 ฝีเข็มต่อนาที
การตัดสินใจลงทุนจักรในการประกอบอาชีพออกแบบลายปักและชิ้นงานปัก เป็นเรื่องที่สำคัญ ควรนำเรื่องเกี่ยวกับสไตล์ความชอบในการออกแบบ มาเป็นองค์ประกอบในการเลือกใช้จักรปักด้วยค่ะ